....นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การนำสิ่งใหม่ๆ อาจเป็นแนวความคิดหรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาแรงงานได้ด้วย นักการศึกษาและนักวิชาการก็ได้นำมาใช้ร่วมกับการศึกษา โดยใช้ชื่อว่า
...ดังนั้นการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้จำกัดแต่เพียงในห้องเรียนหรือเพียงแต่วิธีการเรียนรู้แบบเดิมๆในตำรา หากแต่สามารถจัดการศึกษาได้โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนหรือแม้แต่การคิดประดิษฐ์สื่อการสอนหรือวิธิการสอนใหม่ๆเพื่อพัฒนาการสอนให้ทันยุคสมัยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสนใจที่จะเรียนรู้ ซึ่งวันนี้ดิฉันก็มีตัวอย่างนวัตกรรมทางการศึกษาที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนได้จริง
"ทฤษฎีการเรียนรู้ คอนสตรัคชั่นนิสซึ่ม (Constructionism)"
ทฤษฎีการเรียนรู้ คอนสตรัคชั่นนิสซึ่ม (Constructionism) มีสาระสำคัญที่ว่า ความรู้ไม่ได้มาจากการสอนของครูหรือผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่ความรู้จะเกิดขึ้นและสร้างขึ้นโดยผู้เรียนเอง การเรียนรู้จะ เกิดขึ้นได้ดี ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by doing) นอกจากนั้นมองลึกลงไปถึงการพัฒนาการของผู้เรียนในการเรียนรู้ซึ่งจะมีมากกว่าการได้ลงมือปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปฏิกริยาระหว่างความรู้ในตัวของผู้เรียนเอง ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมภายนอก หมายความว่า ผู้เรียนจะสามารถเก็บข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและเก็บเข้าไปเป็นโครงสร้าง ของความรู้ภายในสมองของตนเอง ขณะเดียวกันก็สามารถเอาความรู้ภายในที่ตนเองมีอยู่แล้วแสดงออกมาให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ซึ่งจะเกิดเป็นวงจรต่อไปเรื่อยๆได้ คือ ผู้เรียนจะเรียนรู้เองจากประสบการณ์ สิ่งแวดล้อมภายนอก แล้วนำข้อมูลเหล่านี้กลับเข้าไปบันทึกในสมองผสมผสานกับความรู้ภายในที่มี อยู่ แล้วแสดงความรู้ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ดังนั้นในการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจะได้ผลดีถ้าหากว่าผู้เรียนเข้าใจในตนเอง มองเห็นความสำคัญในสิ่งที่เรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงความรู้ระหว่างความรู้ ใหม่กับความรู้เก่า และสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ประสบการณ์และบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ถือได้ว่าทฤษฎีการเรียนรู้ Constructionism จะเน้นการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ คือ วิธีการสอน ที่ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ผู้เรียนสามารถเลือกสร้างงานหรือปฏิบัติในสิ่งที่มีความหมายกับตนเองหรือที่ตนเองสนใจ
บทบาทและคุณสมบัติที่ครูควรมีใน การสอนแบบ Constructionism
การสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้ Constructionism ครูนับว่ามีบทบาทสำคัญมากในการที่จะควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ ซึ่งครูที่ศึกษาทฤษฎีนี้ควรมีความเข้าใจในบทบาท คุณสมบัติที่ครูควรจะมี รวมทั้งทัศนคติที่ครูควรเปลี่ยนและสิ่งที่ต้องคำนึงถึง บทบาทของครู ในการดำเนินกิจกรรมการสอน ดังนี้
1. จัดบรรยากาศการเรียนรู้ให้เหมาะสม โดยควบคุมกระบวนการการเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายตาม ที่กำหนดไว้และคอยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่น
2. แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนตามโอกาสที่เหมาะสม
3.สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีทางเลือกที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกตามความสนใจจะทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการคิด การลงมือทำและการเรียนรู้
4. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามแนวทางของทฤษฎี Constructionismโดยเน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เป็นผู้จุดประกายความคิดและกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการ เรียนโดยทั่วถึงกัน ตลอดจนรับฟังและสนับสนุนส่งเสริมให้กำลังใจแก่ผู้เรียนที่จะเรียนรู้เพื่อ ประจักษ์แก่ใจด้วยตนเอง
5. ช่วยเชื่อมโยงความคิดเห็นของผู้เรียนและสรุปผลการเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมและนำทางให้ผู้เรียนได้รู้วิธีวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ เพื่อผู้เรียนจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
บทบาทของผู้เรียน
การเรียนรู้ตามทฤษฎี Constructionism ผู้เรียนจะมีบทบาทเป็นผู้ปฎิบัติและสร้างความรู้ไปพร้อมๆกันด้วยตัวของเขาเอง(ทำไปและเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน) บทบาทที่คาดหวังจากผู้เรียน คือ
1.มีความยินดีร่วมกิจกรรมทุกครั้งด้วยความสมัครใจ
2.เรียนรู้ได้เอง รู้จักแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆที่มีอยู่ด้วยตนเอง
3.ตัดสินปัญหาต่างๆอย่างมีเหตุผล
4.มีความรู้สึกและความคิดเป็นของตนเอง
5.วิเคราะห์พฤติกรรมของตนเองและผู้อื่นได้
6.ให้ความช่วยเหลือกันและกัน รู้จักรับผิดชอบงานที่ตนเองทำอยู่และที่ได้รับมอบหมาย
7.นำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้
โดยสรุปแล้ว หลักการเรียนรู้ตามทฤษฎี Constructionism เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียน เรียนรู้จากการสร้างงาน ผู้เรียนได้ดำเนินกิจกรรมการเรียนด้วยตนเองโดยการลงมือปฏิบัติหรือสร้างงานที่ตนเองสนใจ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้สัมผัสและแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกในกลุ่ม ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตนเอง จากการปฎิบัติงานที่มีความหมายในบริบทที่แท้จริงของตน ทั้งนี้ครูผู้สอนจะต้องสร้างให้เกิดองค์ประกอบได้แก่ 1) ให้ผู้เรียนได้ลงมือประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง (ได้สร้างชิ้นงาน) ตามความสนใจ ตามความชอบหรือความถนัด ของแต่ละบุคคล 2) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภายใต้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ดี 3)มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม ซึ่งการที่นักเรียนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเท่าไรขึ้นอยู่กับบทบาทของครูด้วย โดยครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่นักเรียน
...นี้คือตัวอย่างนวัตรกรรมทางการศึกษาที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนแบบนี้ยังช่วยพัฒนาให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกด้วย
ที่มา: ธีระยุทธ วิเศษสังข์ : นิสิตปริญญาเอก สาขานวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม